ที่มาและความสำคัญ

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมกับ สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมเครือข่าย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยในเครือเทา-งาม ประกอบด้วย คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยพะเยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และ คณะวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยทักษิณ จัดการประชุมวิชาการ "วิทยาศาสตร์วิจัย" ครั้งที่ 16 (The 16th Science Research Conference) ในหัวข้อ "รวมพลังวิทยาศาสตร์ในยุคภูมิอากาศสุดขั้ว: Harmony of Science in the Extreme Climate Era" ในระหว่างวันที่ 27 – 28 กุมภาพันธ์ 2568 ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสนับสนุนการพัฒนาผลงานทางวิชาการ ด้านคณิตศาสตร์วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี พร้อมยกระดับคุณภาพการศึกษาในมหาวิทยาลัยกำกับรัฐ โดยมุ่งส่งเสริมความ ร่วมมือทางวิชาการระหว่างสถาบันการศึกษา เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างความสัมพันธ์ในการพัฒนาผลงานวิจัยร่วมกัน ทำให้เกิดบรรยากาศทางวิชาการ และเกิดความร่วมมือระหว่างสถาบัน เปิดโอกาสให้นักวิจัยรุ่นใหม่ นิสิตระดับปริญญาตรี และนิสิตระดับบัณฑิตศึกษา ได้แสดงผลงานทางวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักวิจัย นักวิชาการระดับประเทศ นอกจากนี้ในการประชุมดังกล่าวยังมีการปาฐกถาพิเศษจาก ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิจัย และนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงระดับชาติและนานาชาติจำนวนมาก

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์พร้อมเครือข่าย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยในเครือเทา-งาม เล็งเห็นความสำคัญของการประชุมวิชาการ ดังกล่าวนี้ที่เป็นเวทีให้นักวิจัย คณาจารย์ตลอดจนนิสิต นักศึกษาระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอกได้มานำเสนอผลงานวิจัย โดยผู้เข้าร่วมการประชุมสามารถส่งผลงานได้ทั้งแบบบทคัดย่อและบทความฉบับเต็ม มีการนำเสนอแบบบรรยายและแบบโปสเตอร์ และผลงานที่ได้รับคัดเลือกในงานประชุมวิชาการครั้งนี้ จะมีการเผยแพร่ตีพิมพ์ใน Proceedings ของงานประชุมในรูปสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งผ่านคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองผลงาน (Peer Review) ก่อนรับตีพิมพ์ สามารถนำมาเป็นส่วนหนึ่งของการสำเร็จการศึกษาตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาอีกด้วย ทั้งนี้ผู้สนใจจากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศสามารถเข้า ร่วมประชุมวิชาการและรับชมผลงานวิจัยในสาขาต่าง ๆ ทางด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีคณิตศาสตร์ศึกษา และวิทยาศาสตร์ศึกษา ได้อีกด้วย ทั้งนี้เป็นการสร้างโอกาสในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ร่วมกันกับนักวิจัยจากสถาบันต่าง ๆ ทั่วประเทศ และเป็นพันธกิจหลักของมหาวิทยาลัยที่ส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย การให้บริการวิชาการที่หลากหลาย พร้อมทั้งส่งเสริมการเผยแพร่ถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่สังคมอีกทางหนึ่งด้วย โดยมีการนำเสนอผลงานวิจัย แบ่งเป็น 10 กลุ่มสาขา ได้แก่

กลุ่มที่ 1 วิทยาศาสตร์ชีวภาพและสิ่งแวดล้อม
กลุ่มที่ 2 วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีชีวภาพ และชีวเคมี
กลุ่มที่ 3 วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหาร และจุลชีววิทยา
กลุ่มที่ 4 สาขาวิชาเคมี เคมีประยุกต์ และเคมีอุตสาหกรรม
กลุ่มที่ 5 สาขาวิชาคณิตศาสตร์ คณิตศาสตร์ประยุกต์ และสถิติ
กลุ่มที่ 6 สาขาวิชาคณิตศาสตร์ศึกษา และวิทยาศาสตร์ศึกษา
กลุ่มที่ 7 สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ และ เทคโนโลยีสารสนเทศ
กลุ่มที่ 8 สาขาวิชาฟิสิกส์ พลังงาน วัสดุศาสตร์ และดาราศาสตร์
กลุ่มที่ 9 สาขาวิชาวิทยาศาสตร์นวัตกรรมเชิงพาณิชย์ (R2M)
กลุ่มที่ 10 การพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย (Routine to Research: R2R)

วัตถุประสงค์

1. เพื่อพัฒนาผลงานทางวิชาการ ด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณิตศาสตร์ศึกษาและวิทยาศาสตร์ศึกษา และยกระดับคุณภาพการศึกษาในมหาวิทยาลัย
2. เพื่อเปิดโอกาสให้ นักเรียน นิสิต นักศึกษา คณาจารย์ นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการรวมถึงผู้สนใจทั่วประเทศ ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้และนำเสนอผลงานวิจัยในเวทีระดับชาติ
3. เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสถาบัน เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างความสัมพันธ์ในการพัฒนาผลงานวิจัยร่วมกัน

ผู้ร่วมโครงการ

นักเรียน นิสิต นักศึกษา คณาจารย์ นักวิจัย นักวิชาการ และผู้สนใจทั่วประเทศ และผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร จากสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และเครือข่ายคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยในเครือเทา-งาม ทั้ง 6 แห่ง รวมทั้งสิ้นกว่า 1,000 คน

กำหนดการและสถานที่

กำหนดการจัดการประชุมฯ : วันที่ 27-28 กุมภาพันธ์ 2568
สถานที่จัดงาน : คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

- สามารถยกระดับคุณภาพการศึกษา กระตุ้นให้มีการพัฒนาผลงานวิจัย และผลงานทางวิชาการในด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณิตศาสตร์ศึกษา และวิทยาศาสตร์ศึกษารวมทั้งเกิดการสร้างการรับรู้ผลงานวิจัยระดับสากล
- สามารถเกิดการบูรณาการส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสถาบันการศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศ เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างความสัมพันธ์ในการพัฒนาผลงานวิจัยร่วมกัน
- ทำให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา คณาจารย์ นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการ และผู้สนใจทั่วประเทศเกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ในเชิงวิชาการ และด้านต่าง ๆ ร่วมกัน ผ่านนำเสนอผลงานวิจัยและผลงาน วิชาการในเวทีระดับชาติ